วันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2554

ข้อสอบเวชกรรมไทย รุ่นเก่า

ข้อ  ๙ ลักษณะวาโยธาตุพิการ มีอาการอย่างไร อุตุสมุฏฐานฤดูใด นับแต่ไหนถึงไหน ฤดูใดเป็นโรคอะไร จงอธิบาย
ตอบ ลักษณะวาโยธาตุ เมื่อพิการมีอาการคือ มีโทษมากครันกว่าธาตุทั้ง ๓ นั้นอาการพิษให้เปื่อยพัง ให้ขาดเป็นชิ้น ๆ  ดังมีดเชือดไม่รอรั้ง วาโยพิการดังสัตถมุขงูร้ายกาจ แม้ขบเอาใครเข้าให้เปื่อยเน่าทั้งกายอาตม์ พวกแพทย์อย่าประมาท อาการธาตุให้รอบรู้
 อนึ่งเล่า จักสำแดง ให้รู้แจ้ง เดือนฤดูทั้ง ๓  ตามแบบครู คิมหะ วสันตะ เหมันตะ   เดือน ๔ แรมค่ำ ๑ ถึงเดือน ๘ เพ็ญคิมหันตะ  โรคเกิดฤดูนั้น เตโชธาตุุถวิการา โรหิตเป็นต้นไข้มักทำให้โทษนา ๆ วสันตแต่แรมมา จนวันเพ็ญเดือน ๑๒ วาโยพิการกล้า   กำเริบกว่าธาตุทุกกอง เหมันเดือน ๑๒ แรมค่ำ ๑ กลางเดือน ๔ สี่เดือน สิ้นฤดูโรคเกิดคู่เหมันตะ มีเสม หะปะทะ มีอาโปธาตุ พิการกาย ฤดูตามโฉลก เป็นมูลโรคแห่งหญิงชาย ผู้แพทย์พึงกฏหมายอธิบาย ไว้ให้เสร็จ




ข้อ ๘ ลักษณะอาโปธาตุเมื่อพิการนั้น มีอาการอย่างไรบ้าง และสมุฏฐานใดทำให้อาโปธาตุให้พิการ จงอธิบาย
ตอบ ลักษณะอาโปธาตุ เมื่อพิการนั้นมีอาการ วิปลาศอันธการ ยังชนผู้โรคา ย่อมพรุนเปื่อยเป็นหิดฝี บางทีเป็นเม็ดคัน ทั่วกายนั้นก็ย่อมมี น้ำเหลืองย่อมไหลปรี่ กอปร์ด้วยกลิ่นเหม็นร้าย ดังงูปูติมุข อันขบตอด คนทั้งหลาย พิษซ่านทั่วทั้งกาย ย่อมพรุนเปื่อยเน่าเป็นหนอง น้ำเหลืองไหลซึมซาม โทษอาโปให้ห่มหมอง ปวงแพทย์พึงตรึกตรอง ให้แม้นแท้จึงวางยา
 ในอุตุสมุฏฐาน ฤดูเหมันต์ แต่แรมค่ำหนึ่งเดือน ๑๒ ถึงเพ็ญเดือน ๔ ในเดือน ๔ นี้อาโปพิการกล้ากว่าธาตุทุกกอง


ข้อ ๗ สมุฏฐานธาตุอะไร เมื่อพิการ มีอาการให้ท้องร่วงเหมือนโรคอหิวาตกโรค จงอธิบาย
ตอบ สมุฏฐานปัถวีเมื่อพิการมีอาการคล้ายโรคอหิวาตก (แต่ไม่เหมือน) คือพิกัดอุทริยอาหารใหม่ เมื่อพิการมีอาการให้ลงท้อง เหมือนโรคอหิวาต์ ให้จุกเสียดให้พะอืดพะอมให้สะอึก เหตุเพราะอาหารผิดสำแดง


ข้อ ๖ ลักษณะเตโชธาตุพิการนั้น มีอาการเป็นอย่างไร จงอธิบาย
ตอบ ลักษณะเตโชเมื่อพิการ คือ วิภาโรภินทนา ยังชนผู้คิลา ให้รุ่มร้อนเป็นกำลัง ฉวีสีหม่นไหม้ ด้านดำไปดูพึงชัง มีฤทธิื์์เพียงดัง อัคคีมุขงูตัวร้าย อันขบเอาบุคคล ไฟรนก่นทั้งกาย เตโชพิการกลาย พิษงูร้ายมีเหมือนกัน


ข้อ ๕ ลักษณะอุจจาระสำแดงโทษมีอาการอย่างไร
ตอบ ลักษณะอุจจาระสำแดงโทษ คือมีอาการท้องร่วง เป็นน้ำและบางทีก็หยาบให้มีอาการจุกเสียดแน่น และมีสีต่าง ๆ กัน เช่น ดำ แดงเขียวและขาว ซีด หรือท้องผูกเกินไป บางทีถ้าอุจจาระสำแดงโทษ อันบังเกิดจากธาตุต่าง ๆ พิการก็จะทำให้มีกลิ่นเป็นต่างๆ เช่นกลิ่นเหมือนหญ้าเน่า เหมือนปลาเน่า เหมือนข้าวบูด และเหมือนซากศพอันเน่าโทรม


ข้อ ๔. สมุฏฐานหรือมูลเหตุของโรค จำแนกไว้กี่อย่าง ให้ยกตัวอย่างโรคที่เกี่ยวกับสมุฏฐานนั้นมา
ตอบ สมุฏฐานหรือมูลเหตุของโรคท่านจำแนกไว้ ๔ อย่างคือ
(๑) ธาตุสมุฏฐาน แบ่งออกเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ
(๒) ฤดูสมฏฐาน แบ่งออกเป็น ร้อน ฝน หนาว
(๓) กาลสมุฏฐาน แบ่งออกเป็น เช้า เที่ยง เย็น
ตัวอย่างโรคที่เกี่ยวกับสมุฏฐานต่าง ๆ คือ
(๑) ธาตุสมุฏฐาน ถ้าธาตุต่างๆ ในตัวเราพิการ ก็จะทำให้เกิดโรค เช่นท้องร่วง เบื่ออาหาร ธาตุพิการเป็นต้น
(๓) อายุสมุฏฐาน เช่นโรคที่เกิดแก่เด็กก็ได้แก่ซางต่าง ๆ
(๔) กาลสมุฏฐาน อันนี้เกี่ยวกับการกำเริบของเสมหะ ปิตตะ และวาตะซึ่งเปลี่ยนไปตามกาลเวลา สำหรับพิจารณาวางยาไข้
หมายเหตุ บางแห่งก็ว่ามูลเหตุของโรคเกิดจากความไม่พอดีของอริยาบถ กินอิ่มเกินไป หรือหิวมากเกินไป ทำงานเหนื่อยเกินไป นอน,นั่ง,มากเกินไป ดีใจมากเกินไป หรือหิวมากเกินไป เหล่านี้เป็นต้น

ข้อ ๓. ในเตโชธาตุนั้น อย่างไหนมีหน้าที่ทำประโยชน์ ให้แก่ร่างกายอย่างไร จงอธิบาย
ตอบ ในเตโชธาตุนั้น มี ๔ ประการต่างมีหน้าที่คือ ไฟสันตัปปัคคี มีหน้าที่ทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ ไฟปริทัยหัคคี มีหน้าที่ ทำให้ร่างกายของเรากระวนกระวายต้องพัดวีและอาบน้ำ ไฟชิรนัคคี มีหน้าที่ เผาให้ร่างกายของเราชำรุดทรุดโทรมคร่ำคร่า ชราลง ไฟปริณามัคคี มีหน้าที่สำหรับย่อยอาหาร ซึ่งทำให้อาหารเรากลืนกินลงไปนั่นแหลกละเอียดไม่ให้อาหารนั้นบูดขึ้นได้

ข้อ ๒. ธาตุสมุฏฐานนั้นได้แก่อะไร อย่างไหนมีอยู่เท่าใด
ตอบ ธาตุสมุฏฐานนั้นได้แก่กองธาตุ ๔ กอง คือ ปถวีมี 20 ธาตุ อาโปธาตุมีอยู่ 12 ธาตุ วาโยมีอยู่ ๖ ธาตุ เตโชมีอยู่ ๔ รวมทั้งหมด 42

ข้อ ๑. ในคำภีร์แพทย์ศาสตร์ทั้งหลาย ท่านตั้งสมุฏฐานไว้ ๕ ประการนั้นได้แก่อะไรบ้าง จงอธิบาย
ตอบ ในคำภีร์แพทย์ศาสตร์นั้น ท่านตั้งสมุฏฐานไว้ ๕ ประการได้แก่ คือ ธาตุสมุฏฐาน ๑ อุตุสมุฏฐาน ๑ อายุสมุฏฐาน ๑ กาลสมุฏฐาน ๑
ประเทศ สมุฏฐาน ๑ รวมเป็น ๕ ดังนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น